วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

เพ่งพิศ พินิจลายสลัก ปราสาทหินโบราณ พิมาย [ 5 ]



                     ในตอนนี้จะพาชมทับหลังและหน้าบันบริเวณภายนอกองค์ปราสาทประธานในส่วนที่เหลือกันครับ
                     หน้าบันด้านบนทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ยังคงสลักเรื่อง รามายณะ โดยมีลายสลักที่พอจะสังเกตุถาพบุคคลให้สัญนิษฐานได้ครับ เราจะสังเกตุเห็นการเผชิญหน้ากันของทั้งสองฝ่ายที่ประทับอยู่บนรถรบ ทางซ้ายคาดว่าเป็นฝั่งพระราม ทางด้านขวาเป็นภาพบุคคลที่หลายกรและหลายเศียรคู่กรณีของพระรามได้ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งก็คือคู่กรณีทศกัณฐ์ครับ ภาพบุคคลตรงกลางสังเกตุมีหลายหน้าหลายกรเช่นกัน ซึ่งก็คือ ท้าวมาลีวราช ซึ่งมีสี่หน้าแปดกร ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของทศกัณฐ์  ดังนั้นภาพสลักตอนนี้จึงคาดว่าเป็นตอนท้าวมาลีวราชว่าความ ส่วนความอะไรนั้นก็เป็นการตัดสินว่านางสีดาควรจะอยู่กับใครนั่นเองครับ



                    ท้าวมาลีวราช มีความยุติธรรม เที่ยงตรง มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ แม้จะเป็นปู่ทศกัณฐ์แต่ก็หาเข้าข้างทศกัณฐ์ไม่ โดยทศกัณฐ์เองได้ใส่ความพระรามต่างๆนานา อีกทั้งแต่งเรื่องว่าไปเจอนางสีดาเลยพามาด้วย  ท้าวมาลีวราชไม่ต้องการฟังความข้างเดียวจึงให้พระรามมาเล่าความทางฝ่ายตรง อีกทั้งให้นางสีดามาเล่าอีกด้วย และเห็นว่าเรื่องราวทางฝ่ายพระรามน่าจะเป็นความจริงจึงให้นางสีดาอยู่กับพระราม ทศกัณฑ์เหก็นดังนั้นจึงโวยวายว่าท้าวมาลีวราชว่าไปเข้าข้างศัตรู ไม่เข้าข้างตนซึ่งเป็นหลานน ท้าวมาลีวราชจึงก็พิโรธอย่างมาก และสาปให้ทศกัณฑ์ให้พ่ายแพ้พระรามทุกครั้งที่รบกัน



                   ทับหลังบนกรอบประตูด้านล่างปรากฎภาพบุคคลตรงกลาง เป็นรูปบุคคลยกขาขึ้นเหยียบลำตัวในขณะที่มือก็จับผมของบุคคลที่อยู่ทางด้านขวา  ด้านซ้ายมือมีภาพบุคคลนั่งโดยมีอีกคนนั่งตัก
                   ทับหลังชิ้นนี้มีการตีความแตกต่างกันออกไปครับ เพราะไปคล้ายกับเรื่องราวหลายเรื่อง ในรามายณะ มีการสันนิษฐานว่าอาจะตอนพระรามฆ่ายักษ์วิราธ เหตุเกิดตอนที่พระราม พระลักษณ์ค้องออกเดินป่าโดยมีนางสีดาเดินทางด้วย ยักษ์วิราธมาติดพัน หวังแย่างนางสีดา แต่ถูกพระรามเหยียบจมธรณีไป
                  ส่วนการตีความอีกลักษณะหนึ่งเป็นตอนพระกฤษณะสังหารพระยากงส์ ( นารายณ์อวตาร) ภาพสลักชิ้นนี้คล้ายกับภาพสลักที่ปราสาทบันทายศรี ที่กัมพูชาครับ เป็นตอนนพระกฤษณะสังหารพระยากงส์ ลองดูเปรียบเทียบกัน ส่วนการตีความอันไหนจะถูกคงบอกไม่ได้ชัดเจนครับ


                   ทับหลังเหนือกรอบประตูด้านทิศเหนือเป็นภาพบุคคลขนาดใหญ่มีสี่กร ซึ่งก็คือพระนารายณ์ สังเกตุได้จากมือที่ถือ คฑา สังข์ ดอกบัว และจักร ภาพบุคคลด้านข้างไม่สามารถระบุได้เป็นใคร


                    หน้าบันด้านทิศเหนือได้สูญเสียรายละเอียดไปมาก ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนเช่นเดียวกัน พอจะสังเกตุเห็นราชยานและมีบุคคลประทับบนนั้น ด้านขวามีภาพบุคคลเป็นสตรี สัณนิษฐานว่าอาจเป็นตอนใดตอนหนึ่งในรามายณะ  แต่ก็ไม่ทราบว่าตอนใด

                   มาดูหน้าบันและทับหลังส่วนสุดท้ายของมณฑปทางทิศตะวันออก  แสดงเรื่องราวรามายณะอีกเช่นกัน ตัวทับหลังเสียหายหักเป็นสองส่วน บริเวณตรงกลางจะสังเกตุเห็นภาพบุคคลนั่งอยู่บนเรือ ที่ลอยอยู่เหนือดอกบัว ในน้ำยังมีจรเข้และปลาอีกด้วยครับ สัณนิษฐานว่าบุคคลตรงกลางที่มีขาดใหญ่ที่สุดคือพระราม มีความเชื่อว่าเรื่องราวตอนนี้เกิดขึ้นหลังจากเสร็จศึกกรุงลงกา พระราม พระลักษณ์ และนางสีดาได้เดินทางกลับกรุงอโยธยา แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการตีความนี้นะครับ ด้วยเหตุที่ว่าในเรื่องราวของมหากาพย์รามยณะ มีการเขียนไว้ชัดเจนว่า พระราม พระลักษณ์ และนางสีดา ได้กลับกรุงอโยธยาโดยนั่งพรหมวิเศษเหาะกลับไป  ก็นั่งเรือกลับก็ดูเหมือนจะนานไม่ทันใจล่ะครับ



                  
                      ส่วนหน้าบันที่อยู่เหนือทับหลังชิ้นนี้เป็นภาพสลักของเหล่าเทพ คาดว่ามาอวยชัยพระรามหลังจากที่ชนะศึกกรุงลงกา ช่วยนางสีดา และฆ่าทศกัณฐ์ได้สำเร็จ เทพองค์กลาง คือพระอินทร์ ทรงช้างเอราวัน เศียรของช้างตรงกลางหายไปคงเหลือแต่ด้านซ้ายและขวา สังเกตุงวงช้างได้ครับ เทพที่อยู่ทางซ้ายของพระอินทร์คือพระพรหม ทรงหงส์ แต่หัวของหงส์ได้หายไป เทพทางขวาสุดคือพระนารายณ์ ทรงอยู่บนครุฑ หังของครุฑก็หายไปแล้วเช่นกัน ต้องจินตนาการกันสักหน่อย ส่วนเทพที่อยู่บนสุดคือพระศิวะและพระแม่อุมา นั่งอยู่บนโคนนทิ

                    มาถึงตอนนี้ก็ถือว่าครบถ้วนสำหรับการนำชม ภาพสลักโดยเฉพาะบริเวณตัวปราสาทประธาน ทั้งภายนอกและภายในครับ แต่ยังไม่หมดครับ สำหรับทับหลังที่พบที่ปราสาทโบราณแห่งนี้ ยังมีอีกหลายชิ้นที่น่าสนใจ แต่ไม่อาจระบุตำแหน่งได้ว่าเคยประดับอยู่ที่ไหน บริเวณใด บางชิ้นถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พิมาย ตอนหน้า เราจะตามไปดูกันครับ



                


วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

เพ่งพิศ พินิจลายสลัก ปราสาทหินโบราณ พิมาย [ 4 ]


                  หลังจากได้ชมทับหลับภายในตัวปราสาทประธานจบครบแล้ว ในตอนนี้จะพาชมภาพสลักบริเวณภายนอกตัวปราสาทกันครับ     
 
                 โดยเริ่มจากทับหลังและหน้าบันทิศตะวันตก เมื่อเดินเข้าปราสาทด้านในจะอยู่ทางด้านฝั่งซ้าย เป็นเรื่องราว รามายณะ ตอน พระราม พระลักษณ์ ต้องศรนาคบาศ
 
 
                 หน้าบันและทับหลังในทิศนี้ได้สลักเป็นเรื่องราวและตอนเดียวกัน ซึ่งถือว่าพบเห็นได้ไม่บ่อยนัก สังเกตุที่มุมซ้ายบนจะเห็นภาพบุคคลแผลงศรซึ่งก็คืออินทรชิต [-2-] หลบอยู่ในกลีบเมฆแผลงศรใส่  พระราม และพระลักษณ์ ศรได้แปลงเป็นนาครัดทั้งคู่นอนสงบนิ่ง [-1-]   หมู่พลลิงนึกว่าทั้งคู่เสียชิวิตจึงพากันเศร้าโศรกเป็นอันมาก [-3-]

                  

               ส่วนหน้าบันตอนนบนเป็นเรื่องราวต่อกัน เมื่อหนุมานไปตามพระยาสุบรรณ [-4-] มาช่วย โดยพระยาสุบรรณนี้ก็คือพญาครุฑนั่นเองครับ  หลายคนคงทราบว่านาคกับครุฑต่างไม่ถูกกันอยู่แล้ว หลังจากพวกนาคถูกฤทธ์ของพระยาสุบรรณหนีไป พระราม พระลักษณ์ก็ฟื้นกลับมาดังเดิม
 
              ในรามรามเกียรติ์ ซึ่งถูกเขียนขึ้นมาใหม่ก็มีเรื่องราวที่คล้ายกัน จะแตกต่างก็เพียงแค่พระลักษณ์ที่ถูกพิษของศรนาคบาศ ซึ่งเป็นเรื่องหลังจากที่ทศกัณฐ์ รู้ว่ากุมภกรรณผู้เป็นน้องถูกพระรามฆ่าตาย ทำให้ทศกัณฐ์โกรธแค้นมาก     จึงสั่งให้อินทรชิตผู้เป็นบุตรผู้ซึ่งมีวิชาแก่กล้าออกไปรบกับพระราม       
                    ส่วนทางฝ่ายพระราม พิเภกได้ทูลพระรามให้ทราบถึงอินทรชิตผู้มีฤทธิ์ได้นำทัพออกรบ เห็นควรให้พระลักษณ์นำทัพออกไปต่อกรกับอินทรชิตก่อน ทั้งสองได้ต่อสู้โดยไม่รู้แพ้ชนะจบพลบค่ำทั้งสองฝ่ายจึงยกทัพกลับ อินทรชิตได้ทูลทศกัณฐ์เพื่อขอไปทำพิธีชุบศรนาคบาศซึ่งต้องใช้เวลาเจ็ดวันระหว่างนี้จำต้องให้ใครออกไปรบขัดตาทัพไปก่อน ทศกัณฐ์จึงสั่งให้มังกรกัณฐ์ออกรบแทน    
                    พิเภกผู้มีญาณหยั่งรู้ถึงชัยชนะจึงได้ทราบจึงทูลให้พระรามออกรบในครั้งนี้ จนสุดท้ายพระรามแผลงศรตัดเศียรมังกรกัณฐ์ขาดจนตาย พิเภกได้ทูลพระรามว่าเหตุที่อินทรชิตมิได้นำทัพออกรบเพราะไปทำพิธีชุบศรที่เขาอากาศ ในโพรงไม้โรทัน โดยให้นาคคายพิษใส่ศรถ้าครบเจ็ดวันจะมีพิษร้ายแรงอย่างมาก จำเป็นต้องรีบไปทำลายพิธีโดยต้องใช้หมีไปทำลาย ชามพูวาชซึ่งชาติก่อนเป็นหมีอาสาไปทำลายพิธีและก็สามารถทำได้สำเร็จ
                   อินทรชิตกลับมาที่สนามรบพบกับวิรุญมุข ที่รบอยู่กับพระลักษณ์ อินทรชิตแผลศรใส่พระลักษณ์และมวลหมู่ลิง ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก แต่พิเภกเป็นยักษ์เช่นกันจึงไม่ได้รับอันตราย พิเภกไปทูลพระรามให้แผลงศรพลายวาตไปตามพระยาสุบรรณมาไล่นาค พระลักษณ์จึงฟื้นขึ้นมา
                   
 
 

                     ส่วนหน้าบันด้านบนสุดเป็นเรื่องเรื่องเกี่ยวกับ เรื่องรานารายณ์อวตารในปางที่แปด โดยพระองค์อวตารเป็นพระกฤษณะ คนที่พอทราบเรื่องพระนารายณ์อวตารคงทราบดีว่าพระกฤษณะมีวีรกรรมมากมายครับ แต่ตอนนี้เป็นตอนที่พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ สังเกตุพระกรด้านซ้ายยกชูขึ้นเหนือหัว

                     เรื่องราวตอนนี้ก็มีอยู่ว่า พระกฤษณะได้ชักจูงให้คนหันมานับถือเขาโควรรธนะ แทนที่จะนับถือพระอินทร์อย่างที่เคยเป็น มีหรือพระอินทร์จะยอม ยิ่งทำให้พระอินทร์ทรงพิโรธอย่างมาก พระองค์จึงเสกให้มีฝนกรดตกลงมาเจ็ด วันเจ็ดคืน พระกฤษณะผู้ซึ่งมีฤทธ์มากก็ได้ยกเขาโควรรธนะขึ้น เพื่อมาปกป้องบังฝนกรดแก่ผู้คนและสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัย

                      เรื่องราวในมหากาพย์ รามายณะยังคงถูกถ่ายทอดบนทับหลังอีกหลายชิ้น ดังเช่น อีกด้านของตัวปราสาทประธาน ทับหลังทิศตะวันออก สลักเป็นตอน พระรามจองถนน โดยเป็นตอนที่พระรามยกทัพไปกรุงกา แต่จำต้องข้ามมหาสมุทธที่ขวางอยู่ อันพระรามเองคงจะข้ามไปไม่ยากครับ มีฤทธ์มากขนาดนั้น แต่เหล่าไพร่ พล ลิงนี่สิ ไม่รู้จะข้ามไปยังไง อันจะให้พวกเหล่าลิงที่มีฤทธ์  วิดน้ำในมหาสมุทธให้แห้ง หรือกระทั่งแปลงเป็นสำเภาใหญ่ พากันข้ามไป แต่ก็เกรงจะเสียเกียรติพระราม ดังนั้นเหล่าเสนาก็เลยตกลงให้ไพร่พลลิงขนหินมาถมมหาสมุทธแทน ดูจะยิ่งใหญ่อลังการสมเกียรติกว่าเป็นแน่แท้ สุดท้ายพระรามก็เห็นด้วย ( แต่ไพร่พล ลิง อาจไม่เห็นด้วยก็ได้ )       พระองค์จึงสั่งให้สุครัพไปจัดการ  สุครีพก็ไปสั่งต่อครับ โดยให้นิลพัทคุมลิงฝ่ายเมืองชมพู หนุมานคุมลิงฝ่ายขีดขิน ช่วยกันขนหินไปถมทะเล

                     เหตุการณ์ก็ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ไม่อย่างนั้นน่ะสิครับ นิลพัทและหนุมาน มีความแค้นฝังหุ่นกันอยู่ เหตุจากหนุมานเคยไปหยามนิลพัทมาก่อน นิลพัทก็เลยคิดจะชำระแค้นกับงานนี้ซะเลย คิดได้ดังนั้นนิลพ้ทฝ่ายขนหินก็ไปขนหินก้อนโตดังภูเขามาสี่ลูก หนุมานฝ่ายรับหิน เห็นก้อนโตมหึมาก็ร้องบอกให้ค่อยๆโยนลงมาทีละลูก มีหรือนิลพัทจะทำตาม ขนมาขนาดนี้หนักก็หนัก พลางก็โยนลงไปทีเดียวสี่ลูกรวด หนุมานก็ฤทธ์มากพอที่จะรับหินเหล่านั้นมาได้ แต่ก็คิดว่าคงโดนนิลพัทเล่นงานเป็นแน่ ก็คิดจะเอาคืน ที่เองข้าไม่ว่า ทีข้าล่ะก็... ว่าแล้วก็เหาะไปขนหินมาบ้าง หนุมานไปหักยอดเขาผูกกับขนมาทุกเส้นครับ เรียกได้ว่าคราวนี้ขนมาเต็มพิักัด ฝ่ายนิลพัทเห็นดังนั้นก็ร้องบอกให้ค่อยๆโยนลงมา แต่หนุมานก็โยนหินทั้งหมดลงมาพร้อมกัน สุดท้ายแล้วก็ตีกันล่ะครับงานนี้ ทั้งสองเข้าลงไม่ลงมือกันพลันวัน

                      สุครีพพยายามห้ามแต่หามีใครฟังไม่ เรื่องก็เลยไปถึงพระราม พระะรามเห็นว่าทั้งคู่คงทำงานร่ามกันไม่ได้แน่จึงสั่งให้นิลพัทไปรั้งเมืองขีดขิน ส่วนหนุมานก็โดนคาดโทษให้ไปขนหินให้เสร็จภายในเจ็ดวัน ไม่เช่นนั้นโทษถึงชีวิต

                      ฝ่ายยักษ์เมื่อเห็นพวกลิงกำลังถมทะเล ก็ไปบอกทศกันฐ์ให้ทราบ ทศกัณฐ์จึงสั่งให้นางสุพรรณมัจฉา ผู้เป็นบุตร ( แม่เป็นปลา ) ไปเกณฑ์เหล่าปลามาขนหินออก คราวนี้พวกขนก็ขนมาถมครับ พวกขนออกก็ขนอยู่ได้น้ำ ไม่เต็มสักที หนุมานเห็นดังนี้นจึงดำลงไปดูจึงรู้สาเหตุ หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉาได้ นางกล้วจึงร้องขอชีวิต และยอมสารภาพ หนุมานจึงบอกให้นางสั่งฝูงปลาไปนำหินกลับมาที่เดิม แต่ด้วยรูปโฉมที่งดงามของนางสุพรรณมัจฉา นางจึงตกเป็นของหนุมานในครานั้น สุดท้ายแล้วการถมทะเลทำถนนก็แล้วเสร็จไปด้วยดี



                      ทับหลังชิ้นนี้เสียหายโดยหักเป็นสองส่วน อีกทั้งภาพสลักบริเวณตรงกลางเสียหายไปทั้งหมด ส่วนที่เหลือยังพอสังเกตุเห็นรายละเอียดได้ครับ



                โดยภาพสลักด้านซ้ายจะเป็นภาพมวลหมู่ลิงขนขินมาถมลงมหาสมุทธเพื่อทำถนน โดยมีเหล่าเสนาลิงคอยสั่งการ




                  ส่วนทับหลังด้านขวาสลักเป็นรูปลิงกำลังวางหินลงทะเล สังเกตุใต้ทะเลมีภาพสลักรูป สัตว์น้ำนานาชนิด


                 เหนือทับหลังชิ้นนี้เป็นหน้าบัน ที่ถาพสลักได้ลบเลือนไปมากครับ ยากที่จะระบุรายละเอียดของบุคคลในภาพได้ชัดเจน แต่ก็คาดว่ายังคงเป็นเรื่องราวในมหากาพย์รามายณะ โดยสันนิษฐานว่าเป็นตอนที่พระราม พระลักษณ์รบกับทศกัณฐ์ เราจะพอสังเกตุเหตูเห็นล้อของรถรบของทั้งสองฝ่าย ด้านซ้ายมีภาพบุคคลแผลงศร ซึ่งก็คาดว่าเป็นฝ่ายพระราม พระลักษณ์ [-1-] ทางด้านฝั่งขวามีภาพบุคคลลักษณะคล้ายมีหลายกร แม้เศียรจะไม่เด่นชัด ก็สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นทศกัณฐ์ครับ ส่วยรายละเอียดอื่นยากที่จะระบุชัดเจน

                 ตอนต่อไปเรามาติดตามภาพสลักในส่วนที่เหลือของปราสาทประธาน ซึ่งก็จะครบทุกด้านทุกทิศในตอนหน้าครับ




 
 
 

วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

เพ่งพิศ พินิจลายสลัก ปราสาทหินโบราณ พิมาย [ 3 ]

       
                   มาถึงตอนนี้เรายังคงอยู่ภายในตัวปราสาทประธาน หรือที่เรียกว่า ห้องครรภคฤหะ ห้องที่เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญของปราสาท ยังมีทับหลังที่น่าสนใจบริเวณกรอบประตูซึ่งเมื่อเทียบกับทับหลังที่ได้เจอก่อนหน้านี้ถือว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์กว่ามากครับ แม้ทับหลังบางชิ้นจะแสดงเรื่องราวเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ แต่ด้วยเหตุที่ต่างนิกายกับที่คนไทยนับถือเป็นส่วนใหญ่ เลยทำให้อาจไม่ค่อยรู้จักหรือคุ้นเคยในเรื่องราวมากนัก
 
                  เริ่มจากทับหลังบนกรอบประตูด้านตะวันออก ทับหลังชิ้นนี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ค่อนข้างมาก มีร่องรอยเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รายละเอียดบนทับหลังถูกแบ่งเป็นสองส่วน มีภาพบุคคลอยู่ตรงกลาง ซึ่งก็คือ  ภาพสลักของพระโพธิสัตว์ [-1-]  พระนามว่า พระโพธิสัตว์ไตรโลกยวิชัย ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ดุร้ายในฝ่ายพุทธศานาลัทธิมหายานตันตระ  มีลักษณะเฉพาะคือ มี 4 พักตร์ ( เห็นเพียง 3 พักตร์ ด้านหน้าและด้นข้าง )  มี 8 กร 2 กรอยู่ในลักษณะแสดงธรรม ส่วนพระหัตถ์ที่เหลือนั้นจับหนังช้างที่แผ่ออก เหตุก็เพื่อปัดป้องกิเลส สังเกตุหางช้างอยู่ด้านบน [-2-]   หัวช้างและงวงอยู่ด้านล่าง [-3-]  พระบาทเหยียบอยู่บนร่างของบุคคล คาดว่าเป็นพระศิวะและพระแม่อุมา [-4-]   แถวด้านบนทั้ง 2 ข้างนั้นปรากฎรูปพระพุทธรูปทรงเครื่องข้างละ 5 องค์ [-5-] 

                ส่วนแถวด้านล่าง มีรูปชาย 2 คน ร่ายรำมือซ้ายถือกระดิ่งอยู่ในระดับอก มือขวาชูขึ้นถือวัชระ [-6-]  ซึ่งทั้งสองสิ่งถือเป็นสิ่งของสำคัญในพิธีกรรมของพุทธศาสนานิกายตันตระ ( วัชระหมายถึง ปัญญากระดิ่งหมายถึง เมตตากรุณา) และถัดออกไปมีรูปนางโยคินีร่ายรำเช่นกันด้านละสี่องค์ [-7-]   สังเกตุมือที่ยกขึ้นของแต่ละนางจะถือสิ่งของแตกต่างกัน เช่น ปลา ดอกไม้ ส่วนที่เหลือไม่สามารถระบุชนิดได้  ทั้งหมดเหยียบอยู่บนภาพบุคคลนอนโดยคาดว่าเป็นตัวแทนของซากศพ [-8-] 



           
                      จากรายละเอียดของภาพสลัก อาจมีข้อสังเกตุอย่างหนึ่งคือ พระโพธิสัตว์ที่เป็นที่เคารพในพุทธศาสนา เหตุใดจึงมีเหล่าเทพของศาสนาฮินดู เช่นพระศิวะ มาปรากฎ อีกทั้งถ้าข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับภาพสลักเป็นจริง พระองค์กลับถูกเหยียบย่ำ เหตุที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาเก่าแก่ที่ได้รับการนับถือมายาวนาน โดยอาศัยความเชื่อที่ว่าเทพเจ้าคือ ผู้เป็นใหญ่ เป็นผู้ควบุคุมความเป็นไปของทุกสรรพสิ่ง อีกทั้งยังบันดาลความสงบสุข แห่งแก่ปวงชนที่นับถือ  ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา และภายหลังมีการแบ่งแยกเป็นหลายนิกาย แต่ด้วยเหตุของการเผยแผ่และต้องการหาผู้มานับถือให้มากขึ้น แข่งขันกันในหลักคิดและความเชื่อ จึงมีการแสดงให้เห็นถึงอิทธิฤทธฺ์ของผู้ที่เป็นที่เคารพ แม้การจะไม่ใช่แก่นคำสอนและสิ่งที่พึงกระทำของศาสนาพุทธ ก็ตาม แต่ก็จะพบเห็นได้ในบางนิกาย

                        ทับหลังชิ้นต่อมาอยู่บนกรอบประตูทางทิศเหนือ ลวดลายสลักบนทับหลังชิ้นนี้ถือว่ามีสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดในบรรดาทับหลังทั้งหมดครับ ภาพสลักมีลักษณะคล้ายคลึงกับทับหลังข้างบน คือถูกแบ่งเป็นสองส่วนและมีภาพบุคคลขนาดใหญ่ อยู่ตรงกลาง จากลักษณะคาดว่าเป็นรูปสลัก  พระวัชรสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ในลัทธิมหายานตันตระ [-1-]  มีพระพักตร์สามหน้า  หกกร สองกรอยู่ท่าปางสมาธิ หัตถ์ขวาล่างถือลูกประคำ หัตถ์ซ้ายล่างถือกระดิ่งที่มีด้ามเป็นวัชระ ส่วนพระหตถ์ด้านบนทั้งสองข้างถือดอกบัว ทางด้านซ้ายขวามีพระพุทธรูปในลักษณะเดียวกันด้านละสององค์  [-2-]  เบื้องล่างตรงกลางเป็นรูปบุคคลทำท่าประโคมดนตรี มีนางโยคีนีร่ายรำทั้งสองด้าน ด้านละสี่นาง [-3-]  โดยร่ายรำอยู่บนซากศพ (รูปบุคคลนอน) [-4-]       

  
                  
                 
                  ภาพสลักสุดท้ายบริเวณทิศตะวันตก  เป็นภาพของ พระพุทธองค์ทรงประทับยืนระหว่างต้นไม้สองต้น   [-1-]  (พระพักตร์และพระหัตถ์ได้สูญหายไปแล้ว ) รายรอบด้วยผู้ที่แสดงความเคารพนับถือชาย หญิง นั่งคุกเข่าทั้งสองด้าน   บุคคลด้านขวาของพระองค์คนแรกถือระฆังที่มีขนาดใหญ่ [-2-] บุคคลอื่นถือเครื่องบูชา [-3-]   โดยบางใบหน้าได้ถูกระเทาะออกใบ



 
               จากรูปแสลักด้านหลังที่แสดงให้เห็นถึงฉัตรและพัด [-4-] สัญนิษฐานว่าพระองค์ทรงเทศนาให้แก่เหล่าราชวงค์และบริวาร ภาพสลักบริเวณด้านขวาแสดงให้เห็นถึงสิ่งก่อสร้างที่ดูเหมือนพระราชวัง [-5-]  ภาพส่วนล่างเป็นภาพสลักบุคคลประโคมเครื่องเล่นดนตรี มีนางรำกำลังร่ายรำ   

                      ภาพสลักดังกล่าวยังไม่สามารถระบุเรื่องราว ในตอนพุทธประวัติได้ชัดเจน เนื่องจากยังมีการตีความ ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม มีความตอนหนึ่งในพุทธประวัติที่น่าสนใจ ซึ่งคงไม่อาจระบุชัดเจนว่ามีความเกี่ยวข้องกับภาพสลักนี้หรือไม่ เรื่องราวมีดังนี้ครับ

                    พระเจ้าพิมพิสาร  เป็นพระราชาของกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ เป็นเมืองใหญ่และมีอำนาจที่สุดในบรรดาเหล่าเมืองใหญ่ในชมพูทวีป พระเจ้าพิมพิสารได้พบพระพุทธเจ้าครั้งแรก ในสมัยที่พระมหาบุรุษเสด็จออกพรรษา ในสมัยนั้นพระเจ้าพิมพิสาร  ทรงเป็นมหาอุปราช พระองค์ทรงพอพระทัยในบุคคลิกลักษณะของพระมหาบุรุษ จึงทูลเชิญให้ครองราชสมบัติ แต่พระพระองค์ปฏิเสธ และตรัสถึงความตั้งพระทัยที่จะออกผนวช พระเจ้าพิมพิสาร ทูลขอต่อพระองค์ว่า  เมื่อได้ตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จกลับมา โปรดพระองค์เป็นคนแรกด้วย
                    เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์  ที่ป่ามฤคทายวัน และเสด็จจำพรรษา ณ ที่นั่น เมื่อออกพรรษาแล้ว ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนายังแคว้นต่างๆ   อีกทั้งทรงดำริที่จะไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารตามที่ทูลขอ ด้วยพระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า กรุงราชคฤห์ เป็นเมืองใหญ่ อีกทั้งถ้าพระเจ้าพิมพิสารทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว ประชาชนคนอื่นๆ ก็จะดำเนินรอยตาม และนั่นหมายถึงการยอมรับพระพุธศาสนาจากศูนย์กลางอำนาจของอินเดีย แต่การเสด็จไปเพียงลำพังก็ยากที่จะทำให้ทุกคนเชื่อถือได้ พระองค์จึงเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา ที่เป็นที่บำเพ็ญเพียรของเหล่าพราหมณ์กัสสปะ เจ้าลัทธิบูชาไฟ ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวราชคฤห์ ทรงเทศนาสั่งสอนจนพราหมณ์เวลกัสสปะยอมรับ พากันออกบวช พร้อมเหล่าบริวาร ๑,๐๐๐ คน จึงเสด็จไปยังกรุง กรุงราชคฤห์ พร้อมขบวนเหล่าลูกศิษย์ โดยเฉพาะยิ่งเหล่าพราหมณ์เจ้าลัทธิเดิมบาชเป็นสาวกพระพุทธเจ้า ยิ่งทำให้เพิ่มการยอมรับในพุทธศาสนาได้มากขึ้น
                    พระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จพร้อมประชาชนจำนวนมากไปเฝ้าพระองค์ยังสวนตาลหนุ่ม นอกราชวัง ที่ๆพระองค์ประทับ และได้ฟังธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารทรงบรรลุ เป็นพระโสดาบัน ประกาศพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ทรงส่งเสริมพุทธศาสานาและทรงถวายสวนไผ่ที่เป็นอุทยานนอกเมืองให้เป็นที่ประทับและถือว่าสถานที่แห่งนี้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เรียกว่า วัดเวฬุวัน  ( การมาเหล่าชุมนุมกันของสงฆ์ 1,250 รูป ก็เกิดขึ้นที่วัดแห่งนี้ )
 
                 มาถึงตรงนี้ก็ถือว่าครบถ้วนสำหรับการชมทับหลังในตัวปราสาทด้านในครับ ตอนต่อไปจะนำชม ทับหลังและหน้าบัน ภายนอกตัวปราสาทประธานโดยรอบ เรื่องราวส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับมหากาพย์รามายณะ เรื่องราวที่ถูกกสลักบนแผ่นหิน มาเกือบพันปี ติดตามต่อไปครับ ...........

 





เพ่งพิศ พินิจลายสลัก ปราสาทหินโบราณ พิมาย [ 2 ]



                      หลังจากผ่านซุ้มประตูชั้นในเข้าสู่บริเวณปราสาทด้านในสุด และพบกับความงดงามของภาพสลักบนหน้าบันด้านทิศใต้ ซึ่งก็คือ ศิวะนาฎราช ตามความในตอนที่แล้ว สำหรับเรื่องในตอนนี้  จะนำเข้าสู่ภายในตัวปราสาทประธาน ยังมีภาพสลักบนทับหลังอีกหลายชิ้นที่น่าสนใจครับ เดินตรงเข้ามาเลย 
 
 
                     ภายในมณฑป ทับหลังแรกที่พบจะเป็นภาพสลักแสดงการรบ คาดว่าเป็นเรื่องราวในมหากาพย์รามายณะ 
                    รามายณะเป็นมหากาพย์ของอินเดีย เป็นเรื่องราวที่มีการเล่าขานมาอย่างยาวนาน และแพร่หลาย ต่อมาได้มีการดัดแปลงเนื้อหา ในแต่ละท้องถิ่น แต่เนื้อเรื่องหลักยังคงเดิม ตัวอย่างเช่น ไทยได้ดัดแปลง นำมาเล่าใหม่ในเรื่องราวของรามเกียรติ์ ดังที่รู้จักกัน ในลาวก็มีเช่นกันครับ ซึ่งก็คือเรื่อง พระลักพระลาม แต่ถ้าเทียบกับรามายณะแล้วก็ถือว่าคนละยุคเลยก็ว่าได้ ห่างกันหลายร้อยปี 
 
                    ในภาพสลักบนทับหลังเป็นภาพการรบกันระหว่างบุคคลสองฝ่าย สังเกตุภาพสลักบุคคลทางซ้ายกำลังแผลงศร [-1-] คาดว่าเป็นพระราม และฝั่งขวาเป็นยักษ์ [-2-] แสดงท่าแผลงศรเช่นกัน โดยรอยเป็นหมู่มวลลิง ( สังเกตุได้ง่ายสุด ) และยักษ์ [-3-] เข้าโรมรัน สัษนิษฐานว่าภาพสลักนี้เป็นตอนการรบในกรุงลงกา
 
                    ทับหลังภายในมณฑปชิ้นถัดมาสลักเป็นภาพพุทธประวัติ อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์มากนัก แต่ก็ยังพอสังเกตุลวดลายได้บ้าง    ช่างสลักได้แบ่งภาพสองส่วนครับ เหมือนมีแนวเส้นแบ่งส่วนบนและล่าง ภาพนี้เป็นภาพสลักของ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ  พระองค์ทรงประทับอยู่ริมแม่น้ำเนรัญชรา เป็นเหตุการณ์ในคืนก่อนตรัสรู้ 
 
 


                  ภาพสลักบริเวณตรงกลางส่วนบน คือภาพสลักขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า [-1-] ซึ่ง ณ ขณะเวลานั้นทรงเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ประทับนั่งขัดสมาธิบนดอกบัว ใต้ต้นโพธิ หรือเรียกว่าโพธิบัลลังก์ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบริเวณกลางตัก พระหัตถ์ขวาวางบนเข่า นิ้วพระหัตถ์ชี้แตะลงธรณี ปัจจุบันรายละเอียดบางส่วนได้ลบเลือนไปแล้วโดยเฉพาะพระเศียร แต่ก็ยังพอสังเกตุภาพบุคคลนั่งขัดสมาธิ ได้ครับ หรือใครนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงภาพองค์พระประธานส่วนใหญ่ในวิหารหรืออุโบสถก็ได้ครับ ส่วนใหญ่จะเป็นปางมารวิชัย จะได้เห็นภาพที่สมบูรณ์ขึ้นครับ

                 ภาพสลักด้านล่างเป็นภาพของเหล่ามาร ซึ่งมีพญามาร วสวัตตี [-3-] ประทับบนหลังช้าง ยกทัพเหล่ามารจำนวนมหาศาลมาหมายที่จะก่อกวนและทำลายความเพียรของพระองค์ แต่พระองค์มิได้หวาดกลัว แม้เหล่าพวกมารจะซัดศาสตราวุธเข้าใส่ [-4-] ก็แต่ก็หาได้ทำอันตรายไม่ พญามารกล่าวทึกทักทวงโพธิบัลลังก์ว่าเป็นเป็นของตนและจะขอคืน โดยอ้างเล่าหมู่มารเป็นพยาน (พวกเดียวกัน) พระองค์ทรงกล่าวว่า บัลลังก์นี้เกิดมาด้วยบุญที่พระองค์สั่งสมมา นิ้วพระหัตถ์ขวาชี้แตะลงธรณีเพื่อเป็นพยาน จากนั้นพระแม่พระธรณี [-2-] ได้ปรากฎกายขึ้นและได้ปล่อยมวยผมบีบน้ำ น้ำที่ไหลออกมานี้มาจากการกรวดอุทิศผลบุญจากการทำทานของพระองค์ในแต่ละชาติ (ทักษิโณทก) น้ำที่ไหลออกมามากมายเหล่านี้ให้ไหลพัดพาหมู่มารไปจนสิ้น

ภาพจิตกรรมฝาผนังพุทธประวัติตอนมารวิชัย วัดพนัญเชิง อยุธยา
             
                 ในทางพุทธศาสนา เหล่ามารเป็นตัวแทนของกิเลส อารมณ์ เป็นเหตุทำให้เกิดทุกข์ การที่จะรู้แจ้ง เห็นจริง ต้องเอาชนะกิเลสให้ได้เสียก่อน ส่วนพระแม่ธรณีอาจหมายถึงปัญญา การอาศัยปัญญา ทำให้เกิดความเยือกเย็น ซึ่งก็หมายถึงสายน้ำ ทำให้เกิด เกิดสติ นำมาซึ่งการขจัด แก้ไขแก้ปัญหา ก็ถือว่าเป็นปริศนาธรรมครับ คนที่เข้าวัดเข้าวาบ่อยๆ คงเคยสังเกตุเห็นภาพจิตกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ หรือวิหาร ที่ถ่ายทอดเรื่องเล่าพุทธประวัติในตอนนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดคำสอนได้ดีครับ

                หลังจากผ่านมณฑปตรงเข้าสู่ปราสาทประธาน หรือที่เรียกว่า ห้องครรภคฤหะ ( คัน-พะ-คะ-รึ-หะ ) จะพบทับหลังประดับเหนือประตูเข้าออกทั้งสี่ทิศ
                ที่บริเวณด้านหน้า ( มองย้อนกลับในทิศทางที่ผ่านเข้ามา) จะพบทับหลังที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งสลักเป็นรูป พระพุทธเจ้าปางนาคปรก [-1-]


             
                      ทับหลังชิ้นนี้ถือว่าลบเลือนไปมาก ถึงมากที่สุด ยังเหลือเพียงแค่เค้าโครงร่างเท่านั้น โดยทั่วไปมีความเชื่อว่าทับหลังด้านนี้เป็นรูปสลักพระเจ้าหรือเทพองค์ใด ศาสนสถานนั้นจะสร้างถวายเพื่อบูชาพระเจ้าและเทพองค์นั้น และเนื่องจากมีการพบ พระพุทธรูปปางนาคปรก  ภายในห้องครรภคฤหะนี้ รูปสลักดังกล่าวจึงคาดว่าเป็นรูปสลักภาพ พระพุทธเจ้า โดยมีพญานาคแผ่พังพานบนพระเศียร หรือที่เรียกกันว่าปางนาคปรก ส่วนบริเวณด้านซ้ายและขวา เป็นรูปพระพุทธเจ้าบริวารด้านละสามองค์ [-2-] ประทับอยู่ใต้ซุ้ม เบื้องล่างเป็นรูปสลักบุคคลบริวารนั่งไหว้ [-3-] และถือเครื่องบูชา [-4-] แสดงการเคารพนับถือ  

                 บริเวณภายในปราสาทประธานนี้ยังมีทับหลังที่น่าสนใจอีก 3 ชิ้น และหนึ่งในนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นทับหลังที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในปราสาทหินพิมาย ภาพสลักจะชัดเจน งดงามเพียงใด ติดตามในตอนหน้าครับ

            


วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

เพ่งพิศ พินิจลายสลัก ปราสาทหินโบราณ พิมาย [ 1 ]




                  ปราสาทหินพิมาย ปราสาทโบราณตั้งตระหง่านบนดินแดน วิมายปุระ มากว่าพันปี ศาสนสถานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตามความเชื่อ ความศรัทธา ของพุทธศาสนามหายาน ที่เป็นที่นับถือของคนยุคนั้น อีกทั้งเป็นการหลอมรวมของคติความเชื่อในเรื่องเทพเจ้า ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของเขมรโบราณแต่กาลก่อน ตามลัทธิของศาสนาฮินดูเข้าด้วยกันอีกด้วย

 
 
                ความงดงามของปราสาทโบราณมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่รูปแบบของสถาปัตยกรรมการก่อสร้างเท่านั้น แต่ลวดลายการตกแต่ง ประดับประดา รายรอบตัวปราสาททั้งภายนอก ภายในก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่น่าชม น่าค้นหาความหมายด้วยเช่นกัน
 
                ณ ปราสาทที่มีประวัติอันยาวนานแห่งนี้ เรื่องราวในตำนานที่อ้างถึงอิทธิฤทธิ์ของเหล่ามหาเทพ รวมถึง พุทธประวัติ ความเชื่อของศาสนา ได้ถูกถ่ายทอดผ่านลายสลักหินทราย บนหน้าบัน ทับหลัง รายรอบตัวปราสาท แม้ปัจจุบันสภาพความสมบูรณ์ของภาพสลักหินได้ลดลงไปตามกาลเวลา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของคติความเชื่อที่มาจากการเปลี่ยนกลับไปนับถือศาสนาฮินดูของกษัตริย์ในยุคหลัง อีกทั้งผลกระทบจากบุคคลมิหวังดีในยุคที่ปราสาทถูกทิ้งร้างล้วนแล้วแต่มีผลกับสภาพความสมบูรณ์ของปราสาทหินแห่งนี้ทั้งสิ้น
   
                ตามชื่อเรื่องที่ได้กล่าวไว้ต้นเรื่อง เรื่องเล่าในตอนนี้ จะเน้นการดูและตีความภาพสลักตามจุดต่างๆ ในปราสาทหินพิมายเป็นหลัก อาจมีการสอดแทรกเรื่องเล่าตามตำนาน ที่เกี่ยวข้องบ้าง เพื่อให้เกิดอรรถรส ควบคู่กันไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็หวังว่าจะทำให้เรารู้จักปราสาทหินที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศมากขึ้นกว่าที่เคยครับ

                   หลังจากที่เข้ามาในบริเวณปราสาท ก่อนที่จะเดินขึ้นบนสะพานนาคราช สะพานที่เสมือนการเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ ดินแดนอันศักสิทธ์   บริเวณมุมด้านซ้ายของกำแพงแก้วด้านนอกฝั่งตะวันตกก มีทับหลังชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียว 
 
   
 
                  ทับหลังที่กล่าวถึงนี้จัดว่ามีความสำคัญชิ้นหนึ่งเลยก็ว่าได้ ทำไมถึงสำคัญนั้นหรือ ทั้งนี้ก็เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานทางศาสนาพุทธ จากเหตุผลที่ว่าปราสาทหินส่วนใหญ่ไม่ว่าในไทยและเขมร มักเป็นศาสนสถานของศาสสนาฮินดูครับ  
                  สังเกตุในภาพ ลวดลายสลักปรากฎเป็นรูปขบวนแห่   ด้านหน้าขบวนแสดงถึงภาพการประโคมดนตรี มีบุคคลแบกสิ่งของมีลักษณะคล้ายฆ้องขนาดใหญ่ [-1-] ทั้งยังปรากฎบุคคลทำท่าตีอีกด้วย ถัดจากหัวขบวนปรากฎบุคคลถือเครื่องบูชา และแบกเสลี่ยง โดยบนเสลี่ยงนั้นมีรูปเคารพที่เป็นที่นับถือประดิษฐานอยู่ด้านบน [-2-]   รูปเคารพดังกล่าวก็คือ พระพุทธรูปนาคปรก ส่วนท้ายขบวนสลักภาพช้างเดินตาม ภาพสลักทั้งหมดนี้ สัญนิษฐานว่าเป็นการจารึกเพื่อที่จะกล่าวถึงเมื่อครั้นการนำรูปเคารพมาประดิษฐานภายในปราสาทหลังสร้างเสร็จ เพราะมีการพบ พระพุทธรูปนาคปรก ที่เป็นพระพุทธรูปสำคัญภายในปราสาทประธานของปราสาทแห่งนี้

                              
                เราย้อนกลับมาที่สะพานนาคราชครั้งและเดินผ่านซุ้มประตูด้านนอกและด้านใน  เราจะพบปราสาทประธานตั้งอยู่บริเวณตรงกลาง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วทั้งสี่ทิศ เปรียบดั่งเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางโลกและจักวาลดัง คติความเชื่อทางศาสนา   บริเวณโดยรอบได้รับการบูรณะและตกแต่งอยู่ในสภาพดี    ตัวปราสาทประธานหันหน้าเยื้องไปทางทิศใต้ ดังนั้นพออนุมานได้ว่าเราจะต้องเดินย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือเพื่อที่จะเข้าประตูด้านหน้าของปราสาทประธานครับ   แต่ประตูปราสาทด้านนี้ไม่ปรากฎทับหลังประดับไว้ คาดว่าสูญหายไป                     
               ก่อนจะเข้าไปด้านในตัวปราสาท มาลองพิจารณาหน้าบันของปราสาทด้านนี้กันก่อน มีภาพสลักมหาเทพของศาสนาฮินดู ที่เป็นที่รู้จักคือ องค์พระศิวะ  มาถึงตรงนี้อาจมีคำถามว่า ก็เพิ่งจะกล่าวว่าศาสนสถานแห่งนี้เป็นของศาสนาพุทธ แล้วเทพฮินดูมาเกี่ยวข้องได้อย่างไร ก็คงจะต้องตอบว่าในอดีตนั้นศาสนาฮินดูมีอิทธิพลมาก่อนและยาวนานครับ แม้กษัตริย์จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ แต่ความเชื่อบางอย่างก็คงยากที่จะเปลี่ยนไปทันทีทันได ผู้คนจึงยังคงยึดติดตามความเขื่อเหล่านั้น ศาสนาพุทธเองจึงต้องรวมเอาคติความเชื่อเดิมมาผนวกเข้าไปด้วย นั่นก็หมายความว่าแม้จะนับถือพระพุทธเจ้า แต่ก็ยังคงนับถือเหล่าเทพ เช่นกัน ซึ่งก็เป็นหลักตามศาสนาพุทธนิการมหายานตันตระ นั่นเองครับ
 
 
 ศิวะนาฎราช มหาเทพแห่งนาฎยศาสตร์

             มีตำนานเล่าว่า ณ เวลาหนึ่งเหล่าผู้บำเพ็ญตน โยคี และโยคีนี ประพฤติตนเหลวแหลก ไม่บำเพ็ญตบะ อีกทั้งไม่อยู่ในศีลในธรรม องค์พระศิวะเห็นดังนั้นจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์ โดยมีพระนารายณ์ตามเสด็จมาด้วย เพื่อกำหราบและสั่งสอน นักบวชที่ไม่ตั้งตนบำเพ็ญเพียร เหล่านั้น   มหาเทพทั้งสองลงมาปรากฎพระองค์เป็นโยคีหนุ่มกับหญิงสาว (ซึ่งก็คือพระนารายณ์ปลอมตัวมา) เดินท่องอยู่ในป่า

              เหล่าโยคีผู้มากด้วยกิเลส ตัณหา พอเห็นหญิงงามต่างก็พากันมาเกี้ยวพาราสี โดยไม่สนใจเลยว่านางนั้นมีคู่ครองแล้ว ส่วนเหล่าโยคีนี ก็สนใจในตัวโยคีหนุ่มรูปงามด้วยเช่นกันโดนไม่คำนึงสถานะตัวเองว่าไม่สมควรกระทำ แต่ท้ายสุดเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็หาได้มีโยคีผู้ไดสามารถ พิชิตใจสาวงามผู้เป็นภรรยาของโยคีหนุ่มนั้นได้ จากความหลงไหลพิศวาสจึงได้กลายเป็นความโกรธแค้นเข้ามาแทนที่ โดยไม่รู้เลยว่าคู่สามี ภรรยานั้นเป็นผู้ใด

                 เหล่าโยคีผู้มีฤกษ์ จึงได้ส่งเหล่าสัตว์ร้าย หมายมาทำร้าย แต่ก็มิอาจทำอะไรได้ อีกทั้งยังถูกพระศิวะมหาเทพทำลายเสียสิ้น มียักษ์ มุยะละกะได้มาช่วยเหล่าโยคี จนทำให้พระศิวะทรงสำแดงฤทธิ์ ใช้เท้าข้างหนึ่งเหยียบยักษ์ไว้ แล้วก็ทรงร่ายรำไปในลีลาอันวิจิตร สั่งสอนบรรดาโยคี โยคีนี ทั้งหลาย ทำให้นักบวชเหล่านั้นยอมศิโรราบ กราบขอขมาต่อพระศิวะ พระนารายณ์โดยดี

                 ต่อมาพระศิวะทรงร้ายรำอีกครั้งและทรงมีบัญชาให้มีการบันทึกท่ารำของพระองค์เพื่อนำมาสอนแก่ชาวโลก ท่ารำทั้ง 108 ท่าของพระศิวะนั้นล้วนแล้วแต่มีความหมายเพื่อสั่งสอนเหล่าเทพยดา และมนุษยโลกทั้งสิ้น ต่อมาท่าร่ายรำดังกล่าวกลายมาเป็นท่ารำของอินเดียโบราณ และเผยแผ่สู่ดินแดนอื่นๆ และถือว่าเป็นพื้นฐานของท่ารำที่เราเห็นในปัจจุบันครับ

             คราวนี้มาดูรายละเอียดของภาพสลักบนหน้าบันด้านบนประตูทางเข้ากันบ้าง จะเห็นเป็นรูปพระศิวะในท่าร่ายรำ หรือ ที่เรียกว่า ศิวะนาฎราช การร่ายรำของพระศิวะเทพแสดงถึงการดำเนินไปของจักรวาล รวมทั้งการสร้างโลก   การดำเนินไปของทุกสรรพสิ่ง      ภาพสลักอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์มีหินสลักบางส่วนสูญหาย ลายสลักพระกรทางด้านขวาของพระพักตร์ [-1-] แสดงถึงท่วงท่าในการร่ายรำของพระองค์




               รูปสลักบุคคลด้านซ้าย [-2-] นั่งบนสัตว์ปีกลักษณะคล้ายนก ถึงแม้หินที่สลักส่วนหางจะหายไป สันนิษฐานว่าบุคคลดังกล่าวคือ ขันทกุมาร บุตรแห่งศิวะ ( อินเดีย เรียกว่า สกันทะ) เนื่องด้วยพระองค์มีพาหนะเป็นนกยูง นั้่นเอง

               ภาพสลักด้านขวาสุดเป็นภาพโคนนทิ โดยหินสลักส่วนหัวได้หายไป [-3-] ภาพผู้หญิงทางซ้ายสุดมีถันห้อยยาน สันนิษฐานว่าคือ นางกาไรกาลัมเมยาร์ หนึ่งในบริวารของพระศิวะ [-4-] ส่วนบุคคลอื่นนั้นยากที่จะระบุได้แน่ชัดครับ

                นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการรู้จักและเข้าใจ พิมาย มากขึ้น ปราสาทที่ได้ชื่อว่า มีขนาดใหญ่ที่สุดในสยาม ตอนต่อไปเราจะไปชมภาพสลักในบริเวณอื่นกันครับ

ติดตามตอนต่อไปใน ..................
เพ่งพิศ พินิจลายสลัก ปราสาทหินโบราณ พิมาย [ 2 ]