วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

เพ่งพิศ พินิจลายสลัก ปราสาทหินโบราณ พิมาย [ 3 ]

       
                   มาถึงตอนนี้เรายังคงอยู่ภายในตัวปราสาทประธาน หรือที่เรียกว่า ห้องครรภคฤหะ ห้องที่เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญของปราสาท ยังมีทับหลังที่น่าสนใจบริเวณกรอบประตูซึ่งเมื่อเทียบกับทับหลังที่ได้เจอก่อนหน้านี้ถือว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์กว่ามากครับ แม้ทับหลังบางชิ้นจะแสดงเรื่องราวเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ แต่ด้วยเหตุที่ต่างนิกายกับที่คนไทยนับถือเป็นส่วนใหญ่ เลยทำให้อาจไม่ค่อยรู้จักหรือคุ้นเคยในเรื่องราวมากนัก
 
                  เริ่มจากทับหลังบนกรอบประตูด้านตะวันออก ทับหลังชิ้นนี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ค่อนข้างมาก มีร่องรอยเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รายละเอียดบนทับหลังถูกแบ่งเป็นสองส่วน มีภาพบุคคลอยู่ตรงกลาง ซึ่งก็คือ  ภาพสลักของพระโพธิสัตว์ [-1-]  พระนามว่า พระโพธิสัตว์ไตรโลกยวิชัย ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ดุร้ายในฝ่ายพุทธศานาลัทธิมหายานตันตระ  มีลักษณะเฉพาะคือ มี 4 พักตร์ ( เห็นเพียง 3 พักตร์ ด้านหน้าและด้นข้าง )  มี 8 กร 2 กรอยู่ในลักษณะแสดงธรรม ส่วนพระหัตถ์ที่เหลือนั้นจับหนังช้างที่แผ่ออก เหตุก็เพื่อปัดป้องกิเลส สังเกตุหางช้างอยู่ด้านบน [-2-]   หัวช้างและงวงอยู่ด้านล่าง [-3-]  พระบาทเหยียบอยู่บนร่างของบุคคล คาดว่าเป็นพระศิวะและพระแม่อุมา [-4-]   แถวด้านบนทั้ง 2 ข้างนั้นปรากฎรูปพระพุทธรูปทรงเครื่องข้างละ 5 องค์ [-5-] 

                ส่วนแถวด้านล่าง มีรูปชาย 2 คน ร่ายรำมือซ้ายถือกระดิ่งอยู่ในระดับอก มือขวาชูขึ้นถือวัชระ [-6-]  ซึ่งทั้งสองสิ่งถือเป็นสิ่งของสำคัญในพิธีกรรมของพุทธศาสนานิกายตันตระ ( วัชระหมายถึง ปัญญากระดิ่งหมายถึง เมตตากรุณา) และถัดออกไปมีรูปนางโยคินีร่ายรำเช่นกันด้านละสี่องค์ [-7-]   สังเกตุมือที่ยกขึ้นของแต่ละนางจะถือสิ่งของแตกต่างกัน เช่น ปลา ดอกไม้ ส่วนที่เหลือไม่สามารถระบุชนิดได้  ทั้งหมดเหยียบอยู่บนภาพบุคคลนอนโดยคาดว่าเป็นตัวแทนของซากศพ [-8-] 



           
                      จากรายละเอียดของภาพสลัก อาจมีข้อสังเกตุอย่างหนึ่งคือ พระโพธิสัตว์ที่เป็นที่เคารพในพุทธศาสนา เหตุใดจึงมีเหล่าเทพของศาสนาฮินดู เช่นพระศิวะ มาปรากฎ อีกทั้งถ้าข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับภาพสลักเป็นจริง พระองค์กลับถูกเหยียบย่ำ เหตุที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาเก่าแก่ที่ได้รับการนับถือมายาวนาน โดยอาศัยความเชื่อที่ว่าเทพเจ้าคือ ผู้เป็นใหญ่ เป็นผู้ควบุคุมความเป็นไปของทุกสรรพสิ่ง อีกทั้งยังบันดาลความสงบสุข แห่งแก่ปวงชนที่นับถือ  ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา และภายหลังมีการแบ่งแยกเป็นหลายนิกาย แต่ด้วยเหตุของการเผยแผ่และต้องการหาผู้มานับถือให้มากขึ้น แข่งขันกันในหลักคิดและความเชื่อ จึงมีการแสดงให้เห็นถึงอิทธิฤทธฺ์ของผู้ที่เป็นที่เคารพ แม้การจะไม่ใช่แก่นคำสอนและสิ่งที่พึงกระทำของศาสนาพุทธ ก็ตาม แต่ก็จะพบเห็นได้ในบางนิกาย

                        ทับหลังชิ้นต่อมาอยู่บนกรอบประตูทางทิศเหนือ ลวดลายสลักบนทับหลังชิ้นนี้ถือว่ามีสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดในบรรดาทับหลังทั้งหมดครับ ภาพสลักมีลักษณะคล้ายคลึงกับทับหลังข้างบน คือถูกแบ่งเป็นสองส่วนและมีภาพบุคคลขนาดใหญ่ อยู่ตรงกลาง จากลักษณะคาดว่าเป็นรูปสลัก  พระวัชรสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ในลัทธิมหายานตันตระ [-1-]  มีพระพักตร์สามหน้า  หกกร สองกรอยู่ท่าปางสมาธิ หัตถ์ขวาล่างถือลูกประคำ หัตถ์ซ้ายล่างถือกระดิ่งที่มีด้ามเป็นวัชระ ส่วนพระหตถ์ด้านบนทั้งสองข้างถือดอกบัว ทางด้านซ้ายขวามีพระพุทธรูปในลักษณะเดียวกันด้านละสององค์  [-2-]  เบื้องล่างตรงกลางเป็นรูปบุคคลทำท่าประโคมดนตรี มีนางโยคีนีร่ายรำทั้งสองด้าน ด้านละสี่นาง [-3-]  โดยร่ายรำอยู่บนซากศพ (รูปบุคคลนอน) [-4-]       

  
                  
                 
                  ภาพสลักสุดท้ายบริเวณทิศตะวันตก  เป็นภาพของ พระพุทธองค์ทรงประทับยืนระหว่างต้นไม้สองต้น   [-1-]  (พระพักตร์และพระหัตถ์ได้สูญหายไปแล้ว ) รายรอบด้วยผู้ที่แสดงความเคารพนับถือชาย หญิง นั่งคุกเข่าทั้งสองด้าน   บุคคลด้านขวาของพระองค์คนแรกถือระฆังที่มีขนาดใหญ่ [-2-] บุคคลอื่นถือเครื่องบูชา [-3-]   โดยบางใบหน้าได้ถูกระเทาะออกใบ



 
               จากรูปแสลักด้านหลังที่แสดงให้เห็นถึงฉัตรและพัด [-4-] สัญนิษฐานว่าพระองค์ทรงเทศนาให้แก่เหล่าราชวงค์และบริวาร ภาพสลักบริเวณด้านขวาแสดงให้เห็นถึงสิ่งก่อสร้างที่ดูเหมือนพระราชวัง [-5-]  ภาพส่วนล่างเป็นภาพสลักบุคคลประโคมเครื่องเล่นดนตรี มีนางรำกำลังร่ายรำ   

                      ภาพสลักดังกล่าวยังไม่สามารถระบุเรื่องราว ในตอนพุทธประวัติได้ชัดเจน เนื่องจากยังมีการตีความ ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม มีความตอนหนึ่งในพุทธประวัติที่น่าสนใจ ซึ่งคงไม่อาจระบุชัดเจนว่ามีความเกี่ยวข้องกับภาพสลักนี้หรือไม่ เรื่องราวมีดังนี้ครับ

                    พระเจ้าพิมพิสาร  เป็นพระราชาของกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ เป็นเมืองใหญ่และมีอำนาจที่สุดในบรรดาเหล่าเมืองใหญ่ในชมพูทวีป พระเจ้าพิมพิสารได้พบพระพุทธเจ้าครั้งแรก ในสมัยที่พระมหาบุรุษเสด็จออกพรรษา ในสมัยนั้นพระเจ้าพิมพิสาร  ทรงเป็นมหาอุปราช พระองค์ทรงพอพระทัยในบุคคลิกลักษณะของพระมหาบุรุษ จึงทูลเชิญให้ครองราชสมบัติ แต่พระพระองค์ปฏิเสธ และตรัสถึงความตั้งพระทัยที่จะออกผนวช พระเจ้าพิมพิสาร ทูลขอต่อพระองค์ว่า  เมื่อได้ตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จกลับมา โปรดพระองค์เป็นคนแรกด้วย
                    เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์  ที่ป่ามฤคทายวัน และเสด็จจำพรรษา ณ ที่นั่น เมื่อออกพรรษาแล้ว ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนายังแคว้นต่างๆ   อีกทั้งทรงดำริที่จะไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารตามที่ทูลขอ ด้วยพระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า กรุงราชคฤห์ เป็นเมืองใหญ่ อีกทั้งถ้าพระเจ้าพิมพิสารทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว ประชาชนคนอื่นๆ ก็จะดำเนินรอยตาม และนั่นหมายถึงการยอมรับพระพุธศาสนาจากศูนย์กลางอำนาจของอินเดีย แต่การเสด็จไปเพียงลำพังก็ยากที่จะทำให้ทุกคนเชื่อถือได้ พระองค์จึงเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา ที่เป็นที่บำเพ็ญเพียรของเหล่าพราหมณ์กัสสปะ เจ้าลัทธิบูชาไฟ ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวราชคฤห์ ทรงเทศนาสั่งสอนจนพราหมณ์เวลกัสสปะยอมรับ พากันออกบวช พร้อมเหล่าบริวาร ๑,๐๐๐ คน จึงเสด็จไปยังกรุง กรุงราชคฤห์ พร้อมขบวนเหล่าลูกศิษย์ โดยเฉพาะยิ่งเหล่าพราหมณ์เจ้าลัทธิเดิมบาชเป็นสาวกพระพุทธเจ้า ยิ่งทำให้เพิ่มการยอมรับในพุทธศาสนาได้มากขึ้น
                    พระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จพร้อมประชาชนจำนวนมากไปเฝ้าพระองค์ยังสวนตาลหนุ่ม นอกราชวัง ที่ๆพระองค์ประทับ และได้ฟังธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารทรงบรรลุ เป็นพระโสดาบัน ประกาศพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ทรงส่งเสริมพุทธศาสานาและทรงถวายสวนไผ่ที่เป็นอุทยานนอกเมืองให้เป็นที่ประทับและถือว่าสถานที่แห่งนี้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เรียกว่า วัดเวฬุวัน  ( การมาเหล่าชุมนุมกันของสงฆ์ 1,250 รูป ก็เกิดขึ้นที่วัดแห่งนี้ )
 
                 มาถึงตรงนี้ก็ถือว่าครบถ้วนสำหรับการชมทับหลังในตัวปราสาทด้านในครับ ตอนต่อไปจะนำชม ทับหลังและหน้าบัน ภายนอกตัวปราสาทประธานโดยรอบ เรื่องราวส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับมหากาพย์รามายณะ เรื่องราวที่ถูกกสลักบนแผ่นหิน มาเกือบพันปี ติดตามต่อไปครับ ...........

 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น