วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

เพ่งพิศ พินิจลายสลัก ปราสาทหินโบราณ พิมาย [ 2 ]



                      หลังจากผ่านซุ้มประตูชั้นในเข้าสู่บริเวณปราสาทด้านในสุด และพบกับความงดงามของภาพสลักบนหน้าบันด้านทิศใต้ ซึ่งก็คือ ศิวะนาฎราช ตามความในตอนที่แล้ว สำหรับเรื่องในตอนนี้  จะนำเข้าสู่ภายในตัวปราสาทประธาน ยังมีภาพสลักบนทับหลังอีกหลายชิ้นที่น่าสนใจครับ เดินตรงเข้ามาเลย 
 
 
                     ภายในมณฑป ทับหลังแรกที่พบจะเป็นภาพสลักแสดงการรบ คาดว่าเป็นเรื่องราวในมหากาพย์รามายณะ 
                    รามายณะเป็นมหากาพย์ของอินเดีย เป็นเรื่องราวที่มีการเล่าขานมาอย่างยาวนาน และแพร่หลาย ต่อมาได้มีการดัดแปลงเนื้อหา ในแต่ละท้องถิ่น แต่เนื้อเรื่องหลักยังคงเดิม ตัวอย่างเช่น ไทยได้ดัดแปลง นำมาเล่าใหม่ในเรื่องราวของรามเกียรติ์ ดังที่รู้จักกัน ในลาวก็มีเช่นกันครับ ซึ่งก็คือเรื่อง พระลักพระลาม แต่ถ้าเทียบกับรามายณะแล้วก็ถือว่าคนละยุคเลยก็ว่าได้ ห่างกันหลายร้อยปี 
 
                    ในภาพสลักบนทับหลังเป็นภาพการรบกันระหว่างบุคคลสองฝ่าย สังเกตุภาพสลักบุคคลทางซ้ายกำลังแผลงศร [-1-] คาดว่าเป็นพระราม และฝั่งขวาเป็นยักษ์ [-2-] แสดงท่าแผลงศรเช่นกัน โดยรอยเป็นหมู่มวลลิง ( สังเกตุได้ง่ายสุด ) และยักษ์ [-3-] เข้าโรมรัน สัษนิษฐานว่าภาพสลักนี้เป็นตอนการรบในกรุงลงกา
 
                    ทับหลังภายในมณฑปชิ้นถัดมาสลักเป็นภาพพุทธประวัติ อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์มากนัก แต่ก็ยังพอสังเกตุลวดลายได้บ้าง    ช่างสลักได้แบ่งภาพสองส่วนครับ เหมือนมีแนวเส้นแบ่งส่วนบนและล่าง ภาพนี้เป็นภาพสลักของ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ  พระองค์ทรงประทับอยู่ริมแม่น้ำเนรัญชรา เป็นเหตุการณ์ในคืนก่อนตรัสรู้ 
 
 


                  ภาพสลักบริเวณตรงกลางส่วนบน คือภาพสลักขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า [-1-] ซึ่ง ณ ขณะเวลานั้นทรงเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ประทับนั่งขัดสมาธิบนดอกบัว ใต้ต้นโพธิ หรือเรียกว่าโพธิบัลลังก์ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบริเวณกลางตัก พระหัตถ์ขวาวางบนเข่า นิ้วพระหัตถ์ชี้แตะลงธรณี ปัจจุบันรายละเอียดบางส่วนได้ลบเลือนไปแล้วโดยเฉพาะพระเศียร แต่ก็ยังพอสังเกตุภาพบุคคลนั่งขัดสมาธิ ได้ครับ หรือใครนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงภาพองค์พระประธานส่วนใหญ่ในวิหารหรืออุโบสถก็ได้ครับ ส่วนใหญ่จะเป็นปางมารวิชัย จะได้เห็นภาพที่สมบูรณ์ขึ้นครับ

                 ภาพสลักด้านล่างเป็นภาพของเหล่ามาร ซึ่งมีพญามาร วสวัตตี [-3-] ประทับบนหลังช้าง ยกทัพเหล่ามารจำนวนมหาศาลมาหมายที่จะก่อกวนและทำลายความเพียรของพระองค์ แต่พระองค์มิได้หวาดกลัว แม้เหล่าพวกมารจะซัดศาสตราวุธเข้าใส่ [-4-] ก็แต่ก็หาได้ทำอันตรายไม่ พญามารกล่าวทึกทักทวงโพธิบัลลังก์ว่าเป็นเป็นของตนและจะขอคืน โดยอ้างเล่าหมู่มารเป็นพยาน (พวกเดียวกัน) พระองค์ทรงกล่าวว่า บัลลังก์นี้เกิดมาด้วยบุญที่พระองค์สั่งสมมา นิ้วพระหัตถ์ขวาชี้แตะลงธรณีเพื่อเป็นพยาน จากนั้นพระแม่พระธรณี [-2-] ได้ปรากฎกายขึ้นและได้ปล่อยมวยผมบีบน้ำ น้ำที่ไหลออกมานี้มาจากการกรวดอุทิศผลบุญจากการทำทานของพระองค์ในแต่ละชาติ (ทักษิโณทก) น้ำที่ไหลออกมามากมายเหล่านี้ให้ไหลพัดพาหมู่มารไปจนสิ้น

ภาพจิตกรรมฝาผนังพุทธประวัติตอนมารวิชัย วัดพนัญเชิง อยุธยา
             
                 ในทางพุทธศาสนา เหล่ามารเป็นตัวแทนของกิเลส อารมณ์ เป็นเหตุทำให้เกิดทุกข์ การที่จะรู้แจ้ง เห็นจริง ต้องเอาชนะกิเลสให้ได้เสียก่อน ส่วนพระแม่ธรณีอาจหมายถึงปัญญา การอาศัยปัญญา ทำให้เกิดความเยือกเย็น ซึ่งก็หมายถึงสายน้ำ ทำให้เกิด เกิดสติ นำมาซึ่งการขจัด แก้ไขแก้ปัญหา ก็ถือว่าเป็นปริศนาธรรมครับ คนที่เข้าวัดเข้าวาบ่อยๆ คงเคยสังเกตุเห็นภาพจิตกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ หรือวิหาร ที่ถ่ายทอดเรื่องเล่าพุทธประวัติในตอนนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดคำสอนได้ดีครับ

                หลังจากผ่านมณฑปตรงเข้าสู่ปราสาทประธาน หรือที่เรียกว่า ห้องครรภคฤหะ ( คัน-พะ-คะ-รึ-หะ ) จะพบทับหลังประดับเหนือประตูเข้าออกทั้งสี่ทิศ
                ที่บริเวณด้านหน้า ( มองย้อนกลับในทิศทางที่ผ่านเข้ามา) จะพบทับหลังที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งสลักเป็นรูป พระพุทธเจ้าปางนาคปรก [-1-]


             
                      ทับหลังชิ้นนี้ถือว่าลบเลือนไปมาก ถึงมากที่สุด ยังเหลือเพียงแค่เค้าโครงร่างเท่านั้น โดยทั่วไปมีความเชื่อว่าทับหลังด้านนี้เป็นรูปสลักพระเจ้าหรือเทพองค์ใด ศาสนสถานนั้นจะสร้างถวายเพื่อบูชาพระเจ้าและเทพองค์นั้น และเนื่องจากมีการพบ พระพุทธรูปปางนาคปรก  ภายในห้องครรภคฤหะนี้ รูปสลักดังกล่าวจึงคาดว่าเป็นรูปสลักภาพ พระพุทธเจ้า โดยมีพญานาคแผ่พังพานบนพระเศียร หรือที่เรียกกันว่าปางนาคปรก ส่วนบริเวณด้านซ้ายและขวา เป็นรูปพระพุทธเจ้าบริวารด้านละสามองค์ [-2-] ประทับอยู่ใต้ซุ้ม เบื้องล่างเป็นรูปสลักบุคคลบริวารนั่งไหว้ [-3-] และถือเครื่องบูชา [-4-] แสดงการเคารพนับถือ  

                 บริเวณภายในปราสาทประธานนี้ยังมีทับหลังที่น่าสนใจอีก 3 ชิ้น และหนึ่งในนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นทับหลังที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในปราสาทหินพิมาย ภาพสลักจะชัดเจน งดงามเพียงใด ติดตามในตอนหน้าครับ

            


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น