วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

เพ่งพิศ พินิจลายสลัก ปราสาทหินโบราณ พิมาย [ 1 ]




                  ปราสาทหินพิมาย ปราสาทโบราณตั้งตระหง่านบนดินแดน วิมายปุระ มากว่าพันปี ศาสนสถานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตามความเชื่อ ความศรัทธา ของพุทธศาสนามหายาน ที่เป็นที่นับถือของคนยุคนั้น อีกทั้งเป็นการหลอมรวมของคติความเชื่อในเรื่องเทพเจ้า ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของเขมรโบราณแต่กาลก่อน ตามลัทธิของศาสนาฮินดูเข้าด้วยกันอีกด้วย

 
 
                ความงดงามของปราสาทโบราณมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่รูปแบบของสถาปัตยกรรมการก่อสร้างเท่านั้น แต่ลวดลายการตกแต่ง ประดับประดา รายรอบตัวปราสาททั้งภายนอก ภายในก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่น่าชม น่าค้นหาความหมายด้วยเช่นกัน
 
                ณ ปราสาทที่มีประวัติอันยาวนานแห่งนี้ เรื่องราวในตำนานที่อ้างถึงอิทธิฤทธิ์ของเหล่ามหาเทพ รวมถึง พุทธประวัติ ความเชื่อของศาสนา ได้ถูกถ่ายทอดผ่านลายสลักหินทราย บนหน้าบัน ทับหลัง รายรอบตัวปราสาท แม้ปัจจุบันสภาพความสมบูรณ์ของภาพสลักหินได้ลดลงไปตามกาลเวลา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของคติความเชื่อที่มาจากการเปลี่ยนกลับไปนับถือศาสนาฮินดูของกษัตริย์ในยุคหลัง อีกทั้งผลกระทบจากบุคคลมิหวังดีในยุคที่ปราสาทถูกทิ้งร้างล้วนแล้วแต่มีผลกับสภาพความสมบูรณ์ของปราสาทหินแห่งนี้ทั้งสิ้น
   
                ตามชื่อเรื่องที่ได้กล่าวไว้ต้นเรื่อง เรื่องเล่าในตอนนี้ จะเน้นการดูและตีความภาพสลักตามจุดต่างๆ ในปราสาทหินพิมายเป็นหลัก อาจมีการสอดแทรกเรื่องเล่าตามตำนาน ที่เกี่ยวข้องบ้าง เพื่อให้เกิดอรรถรส ควบคู่กันไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็หวังว่าจะทำให้เรารู้จักปราสาทหินที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศมากขึ้นกว่าที่เคยครับ

                   หลังจากที่เข้ามาในบริเวณปราสาท ก่อนที่จะเดินขึ้นบนสะพานนาคราช สะพานที่เสมือนการเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ ดินแดนอันศักสิทธ์   บริเวณมุมด้านซ้ายของกำแพงแก้วด้านนอกฝั่งตะวันตกก มีทับหลังชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียว 
 
   
 
                  ทับหลังที่กล่าวถึงนี้จัดว่ามีความสำคัญชิ้นหนึ่งเลยก็ว่าได้ ทำไมถึงสำคัญนั้นหรือ ทั้งนี้ก็เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานทางศาสนาพุทธ จากเหตุผลที่ว่าปราสาทหินส่วนใหญ่ไม่ว่าในไทยและเขมร มักเป็นศาสนสถานของศาสสนาฮินดูครับ  
                  สังเกตุในภาพ ลวดลายสลักปรากฎเป็นรูปขบวนแห่   ด้านหน้าขบวนแสดงถึงภาพการประโคมดนตรี มีบุคคลแบกสิ่งของมีลักษณะคล้ายฆ้องขนาดใหญ่ [-1-] ทั้งยังปรากฎบุคคลทำท่าตีอีกด้วย ถัดจากหัวขบวนปรากฎบุคคลถือเครื่องบูชา และแบกเสลี่ยง โดยบนเสลี่ยงนั้นมีรูปเคารพที่เป็นที่นับถือประดิษฐานอยู่ด้านบน [-2-]   รูปเคารพดังกล่าวก็คือ พระพุทธรูปนาคปรก ส่วนท้ายขบวนสลักภาพช้างเดินตาม ภาพสลักทั้งหมดนี้ สัญนิษฐานว่าเป็นการจารึกเพื่อที่จะกล่าวถึงเมื่อครั้นการนำรูปเคารพมาประดิษฐานภายในปราสาทหลังสร้างเสร็จ เพราะมีการพบ พระพุทธรูปนาคปรก ที่เป็นพระพุทธรูปสำคัญภายในปราสาทประธานของปราสาทแห่งนี้

                              
                เราย้อนกลับมาที่สะพานนาคราชครั้งและเดินผ่านซุ้มประตูด้านนอกและด้านใน  เราจะพบปราสาทประธานตั้งอยู่บริเวณตรงกลาง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วทั้งสี่ทิศ เปรียบดั่งเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางโลกและจักวาลดัง คติความเชื่อทางศาสนา   บริเวณโดยรอบได้รับการบูรณะและตกแต่งอยู่ในสภาพดี    ตัวปราสาทประธานหันหน้าเยื้องไปทางทิศใต้ ดังนั้นพออนุมานได้ว่าเราจะต้องเดินย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือเพื่อที่จะเข้าประตูด้านหน้าของปราสาทประธานครับ   แต่ประตูปราสาทด้านนี้ไม่ปรากฎทับหลังประดับไว้ คาดว่าสูญหายไป                     
               ก่อนจะเข้าไปด้านในตัวปราสาท มาลองพิจารณาหน้าบันของปราสาทด้านนี้กันก่อน มีภาพสลักมหาเทพของศาสนาฮินดู ที่เป็นที่รู้จักคือ องค์พระศิวะ  มาถึงตรงนี้อาจมีคำถามว่า ก็เพิ่งจะกล่าวว่าศาสนสถานแห่งนี้เป็นของศาสนาพุทธ แล้วเทพฮินดูมาเกี่ยวข้องได้อย่างไร ก็คงจะต้องตอบว่าในอดีตนั้นศาสนาฮินดูมีอิทธิพลมาก่อนและยาวนานครับ แม้กษัตริย์จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ แต่ความเชื่อบางอย่างก็คงยากที่จะเปลี่ยนไปทันทีทันได ผู้คนจึงยังคงยึดติดตามความเขื่อเหล่านั้น ศาสนาพุทธเองจึงต้องรวมเอาคติความเชื่อเดิมมาผนวกเข้าไปด้วย นั่นก็หมายความว่าแม้จะนับถือพระพุทธเจ้า แต่ก็ยังคงนับถือเหล่าเทพ เช่นกัน ซึ่งก็เป็นหลักตามศาสนาพุทธนิการมหายานตันตระ นั่นเองครับ
 
 
 ศิวะนาฎราช มหาเทพแห่งนาฎยศาสตร์

             มีตำนานเล่าว่า ณ เวลาหนึ่งเหล่าผู้บำเพ็ญตน โยคี และโยคีนี ประพฤติตนเหลวแหลก ไม่บำเพ็ญตบะ อีกทั้งไม่อยู่ในศีลในธรรม องค์พระศิวะเห็นดังนั้นจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์ โดยมีพระนารายณ์ตามเสด็จมาด้วย เพื่อกำหราบและสั่งสอน นักบวชที่ไม่ตั้งตนบำเพ็ญเพียร เหล่านั้น   มหาเทพทั้งสองลงมาปรากฎพระองค์เป็นโยคีหนุ่มกับหญิงสาว (ซึ่งก็คือพระนารายณ์ปลอมตัวมา) เดินท่องอยู่ในป่า

              เหล่าโยคีผู้มากด้วยกิเลส ตัณหา พอเห็นหญิงงามต่างก็พากันมาเกี้ยวพาราสี โดยไม่สนใจเลยว่านางนั้นมีคู่ครองแล้ว ส่วนเหล่าโยคีนี ก็สนใจในตัวโยคีหนุ่มรูปงามด้วยเช่นกันโดนไม่คำนึงสถานะตัวเองว่าไม่สมควรกระทำ แต่ท้ายสุดเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็หาได้มีโยคีผู้ไดสามารถ พิชิตใจสาวงามผู้เป็นภรรยาของโยคีหนุ่มนั้นได้ จากความหลงไหลพิศวาสจึงได้กลายเป็นความโกรธแค้นเข้ามาแทนที่ โดยไม่รู้เลยว่าคู่สามี ภรรยานั้นเป็นผู้ใด

                 เหล่าโยคีผู้มีฤกษ์ จึงได้ส่งเหล่าสัตว์ร้าย หมายมาทำร้าย แต่ก็มิอาจทำอะไรได้ อีกทั้งยังถูกพระศิวะมหาเทพทำลายเสียสิ้น มียักษ์ มุยะละกะได้มาช่วยเหล่าโยคี จนทำให้พระศิวะทรงสำแดงฤทธิ์ ใช้เท้าข้างหนึ่งเหยียบยักษ์ไว้ แล้วก็ทรงร่ายรำไปในลีลาอันวิจิตร สั่งสอนบรรดาโยคี โยคีนี ทั้งหลาย ทำให้นักบวชเหล่านั้นยอมศิโรราบ กราบขอขมาต่อพระศิวะ พระนารายณ์โดยดี

                 ต่อมาพระศิวะทรงร้ายรำอีกครั้งและทรงมีบัญชาให้มีการบันทึกท่ารำของพระองค์เพื่อนำมาสอนแก่ชาวโลก ท่ารำทั้ง 108 ท่าของพระศิวะนั้นล้วนแล้วแต่มีความหมายเพื่อสั่งสอนเหล่าเทพยดา และมนุษยโลกทั้งสิ้น ต่อมาท่าร่ายรำดังกล่าวกลายมาเป็นท่ารำของอินเดียโบราณ และเผยแผ่สู่ดินแดนอื่นๆ และถือว่าเป็นพื้นฐานของท่ารำที่เราเห็นในปัจจุบันครับ

             คราวนี้มาดูรายละเอียดของภาพสลักบนหน้าบันด้านบนประตูทางเข้ากันบ้าง จะเห็นเป็นรูปพระศิวะในท่าร่ายรำ หรือ ที่เรียกว่า ศิวะนาฎราช การร่ายรำของพระศิวะเทพแสดงถึงการดำเนินไปของจักรวาล รวมทั้งการสร้างโลก   การดำเนินไปของทุกสรรพสิ่ง      ภาพสลักอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์มีหินสลักบางส่วนสูญหาย ลายสลักพระกรทางด้านขวาของพระพักตร์ [-1-] แสดงถึงท่วงท่าในการร่ายรำของพระองค์




               รูปสลักบุคคลด้านซ้าย [-2-] นั่งบนสัตว์ปีกลักษณะคล้ายนก ถึงแม้หินที่สลักส่วนหางจะหายไป สันนิษฐานว่าบุคคลดังกล่าวคือ ขันทกุมาร บุตรแห่งศิวะ ( อินเดีย เรียกว่า สกันทะ) เนื่องด้วยพระองค์มีพาหนะเป็นนกยูง นั้่นเอง

               ภาพสลักด้านขวาสุดเป็นภาพโคนนทิ โดยหินสลักส่วนหัวได้หายไป [-3-] ภาพผู้หญิงทางซ้ายสุดมีถันห้อยยาน สันนิษฐานว่าคือ นางกาไรกาลัมเมยาร์ หนึ่งในบริวารของพระศิวะ [-4-] ส่วนบุคคลอื่นนั้นยากที่จะระบุได้แน่ชัดครับ

                นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการรู้จักและเข้าใจ พิมาย มากขึ้น ปราสาทที่ได้ชื่อว่า มีขนาดใหญ่ที่สุดในสยาม ตอนต่อไปเราจะไปชมภาพสลักในบริเวณอื่นกันครับ

ติดตามตอนต่อไปใน ..................
เพ่งพิศ พินิจลายสลัก ปราสาทหินโบราณ พิมาย [ 2 ]




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น